สกู๊ป: สสวท. 2 นาที ตอนที่ 4 สสวท เดินหน้าโรงเรียนคุณภาพเพื่อพัฒนาเยาวชนทันโลก 220661
#โรงเรียนคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีตามมาตรฐาน สสวท. ความสำคัญของโครงการ การที่จะบรรลุเป้าหมายประเทศไทย ๔.๐ และเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดตามความต้องการของพื้นที่นั้นจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพกำลังคน โดยการยกระดับคุณภาพการศึกษา ระดับปฐมวัย ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในทุกอำเภอของจังหวัดทั่วประเทศ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการคิดวิเคราะห์ การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา และการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ กระทรวงศึกษาธิการกำลังเร่งดำเนินการพัฒนาโรงเรียนด้อยโอกาสด้วยโครงการต่าง ๆ เช่น โรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนดีใกล้บ้าน โรงเรียน ICU รวมทั้งโรงเรียนที่มีศักยภาพ เช่น โครงการขยายผลสะเต็มศึกษาในโรงเรียน ๒,๒๕๐ โรงทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีโครงการส่งเสริมโรงเรียนศักยภาพสูงด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย และโรงเรียนในโครงการของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เช่น โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษฯ (พสวท.) โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ แต่อย่างไรก็ดี ประเทศยังขาดการพัฒนาโรงเรียนที่อยู่ในช่วงกลาง ระหว่างโรงเรียนที่มุ่งความเป็นเลิศและโรงเรียนด้อยโอกาส โรงเรียนในช่วงกลางที่อยู่ในทุกอำเภอนี้ ขาดคุณภาพด้านการศึกษา เป็นโรงเรียนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ มีนักเรียนเกินครึ่งของนักเรียนทั่วประเทศ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นโรงเรียนคุณภาพได้ สสวท. จึงมีโครงการที่จะส่งเสริมให้การเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้มีผลสัมฤทธิ์ที่สูงทัดเทียมนานาชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนในทุกอำเภอได้เข้าถึงการศึกษา ที่มีคุณภาพ ได้รับการพัฒนาจนมีความสามารถและทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศสู่ยุค ๔.๐ โดยการร่วมมือกับจังหวัด อำเภอและท้องถิ่น วัตถุประสงค์ ๒.๑ ทุกอำเภอมีโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้นักเรียนมีทางเลือกที่จะเข้าศึกษาในโรงเรียนดีใกล้บ้านและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ๒.๒ นักเรียนมีความรู้ ความสามารถและมีทักษะการเรียนรู้ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ คิดริเริ่มสร้างสรรค์ ประยุกต์ใช้ความรู้และแก้ปัญหาซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ๒.๓ เพิ่มทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพสูงในทุกอำเภอ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาจังหวัดและประเทศที่ ต้องการบุคลากรที่มีความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นสำคัญ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยการยกระดับคุณภาพโรงเรียนระดับอำเภอนั้น จำเป็นต้องมีความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างหน่วยงาน ดังต่อไปนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงมหาดไทย ได้แก่ จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=WrmYGLIf5d4