
เสริมแกร่ง SMEs ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (3/5)
การสัมมนา "เสริมแกร่ง SMEs ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน" วันที่ 27 มีนาคม 2562 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม CC-307 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย, อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Developing country) ที่มีภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศไทย จัดได้ว่าเป็นกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ดังนั้น SMEs จึงมีบทบาทสำคัญมากกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งด้านการสร้างงาน สร้างรายได้ และเป็นฐานของการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ต่อไป อย่างไรก็ตาม หลายครั้งที่เราต่างมีคำถามในใจว่า เมื่อไหร่ประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle income trap) และจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเหมือนประเทศอื่น เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น หรือเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ซึ่งจากการศึกษาแนวทางการพัฒนา ไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วของประเทศอื่นๆ พบว่า การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ถือเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งที่จะขับเคลื่อนประเทศต่างๆ ให้ก้าวข้ามไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาได้อย่างมั่นคง ซึ่งการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาช่วยพัฒนางานในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ มีได้หลายรูปแบบ เช่น การลดการใช้แรงคนโดยการใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่ ไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มผลผลิตในอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะมีความสำคัญกับ SMEs ของไทยอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงาน เป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของการผลิต ที่จะทำให้ธุรกิจแข่งขันและอยู่รอดได้ อย่างไรก็ตาม การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ผ่านมา มักเป็นงานที่เกิดจากภาคการศึกษา หรือเกิดกับวิสาหกิจขนาดใหญ่ โดยที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยังต้องติดกับดับเรื่องของการมุ่งพัฒนาด้านการตลาดเพื่อขายสินค้า และการอยู่รอดของธุรกิจ ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงขาดการทำวิจัยที่ตอบโจทย์ปัญหาของตนเอง ดังนั้น การส่งเสริมจากภาครัฐ หรือการใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีเป็นตัวผลัก (Technology Push) นั้น อาจไม่เพียงพอต่อการส่งเสริม ให้เกิดการนำเทคโนโลยี ไปใช้งานในวิสาหกิจได้อย่างทั่วถึง หรือใช้งานได้จริง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้น คือ การนำปัญหาหรือความต้องการของวิสาหกิจนั้นๆ (Market Pull) มาทำให้เกิดการพบกันของสองด้านดังกล่าว เพื่อให้เกิดการนำงานวิจัยที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปสู่การใช้งานจริงพร้อมทั้งตอบโจทย์ SMEs ได้ขณะเดียวกัน การสัมมนาวิชาการนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ และนำเสนอถึงแนวทางของการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของ SMEs ไทยโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและเพิ่มผลผลิตในกรณีศึกษาต่างๆ ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนมุมมอง ถึงโอกาสของการสร้างความร่วมมือทางการวิจัย ระหว่างภาครัฐ สวทช. สถาบันการศึกษา และ SMEs ไปจนถึงมุมมองทางการตลาด เพื่อให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปสู่การใช้งานจริงของ SMEs ไทยได้อย่างทั่วถึงในอนาคตต่อไป
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=xhgn-r3s7K0